วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แพทย์ทางเลือกกับพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ในสัตว์เลี้ยง

เรามาว่ากันถึงเรื่องสุนัขกัดเด็กซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือไม่เป็นข่าวก็ตาม ก็มักชวนให้สยดสยองเสมอ จนหมอรู้สึกว่าผู้เลี้ยงสุนัขในบ้านเราขาดความรู้ในการเลี้ยง ขาดความเอาใจใส่ และระมัดระวังในการดูแลสัตว์ จนเกิดปัญหาสังคม เช่น การนำสุนัขหรือแมวไปปล่อย แถมบางครั้งมีลูกติดท้องมาด้วย

พฤติกรรมไม่พึงประสงค์มีที่มาจากผู้เลี้ยงดู สายพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม ที่รวมกันแล้วเกิดปัญหาขึ้นมาได้อย่างน่าขนลุก หากไม่สามารถปรับปรุงหรือแก้ไขได้

ในเรื่องของผู้เลี้ยงดูนั้น หมอมีความเห็นว่า คนไทยใจดี แต่อาจจะใจอ่อน ไม่ค่อยมีวินัยในการอบรมเลี้ยงดู ชอบตามใจสัตว์เลี้ยงจนในที่สุด เขาจะไม่คิดว่าเราเป็นเจ้านาย แต่เป็นลูกน้องที่ต้องยำเกรงเขาแทน และถ้าเป็นไปได้อยากให้ผู้ที่คิดจะเลี้ยงเตรียมตัวก่อน แบบเตรียมตัวจะมีครอบครัวมีลูกทำนองนี้เลย เพราะการเลี้ยงดูอบรมนั้นเป็นสิ่งที่พูดง่ายทำยาก ไม่เช่นนั้นในโลกนี้คงมีแต่คนดีๆ และสัตว์เลี้ยงดีๆ กันหมด

ส่วนสายพันธุ์นั้น เป็นสิ่งที่เรากำหนดได้ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ต้องการการฝึกอย่างเข้มข้น หรือเลี้ยงไปตามธรรมชาติก็ได้จะไม่ดุตามสายพันธุ์ ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ ก็ควรเลือกพันธุ์ที่เขาเรียบร้อยหน่อย เช่น ลาบราดอร์ ยอร์คเชียร์ หรือ ปั๊ก เป็นต้น

สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ดูเหมือนเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเพราะเป็นสิ่งของ บางทีกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เช่น การกักขังสุนัขในกรงหรือที่แคบ จะทำให้เขาหงุดหงิดและดุหวงที่อยู่มากเป็นพิเศษได้ แต่ไม่มีทางแก้เพราะไม่มีที่ให้เขาเดินเล่น ไม่มีญาติที่จะฝากจูง ไม่มีรถไปเที่ยว หรือเหตุผลอื่นๆ อีกร้อยแปดพันประการ

การแก้ไขพฤติกรรมในปัจจุบันจะเน้นการเปลี่ยนกิจวัตรเดิมๆ การฝึกร่วมกับการใช้ยา ซึ่งยาเหล่านั้นมีผลข้างเคียงในการปรับสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) แต่เป็นพิษกับตับหรือไต(หากใช้เป็นเวลานานๆ) ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง ใจเต้นเร็ว น้ำตาแห้ง น้ำหนักลด ไม่มีแรง สั่น ความจำไม่ดี เป็นต้น รายงานการใช้ยายังคงเป็นงานวิจัยในคน แล้วนำมาดัดแปลงใช้ในสัตว์ ซึ่งผู้ใช้ยาจำเป็นต้องปรึกษาสัตวแพทย์ และควรใช้ยาคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม ในบ้านเรายังไม่มีจิต(สัตว) แพทย์จึงคงต้องใช้วิธีลองรักษากันไปก่อน แต่ถึงแม้ในต่างประเทศเอง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับสัตวแพทย์ที่รักษาโรคทางใจ กว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้สมบูรณ์

จะว่าบังเอิญก็ได้ที่หมอได้ฝังเข็มสุนัขแก้ไขอาการปวดข้อสะโพก แล้วปรากฏว่าความดุของเขาลดลง ขี้เล่นมีเหตุมีผลขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับอาจารย์ที่เคยสอนฝังเข็มว่า ผลจากการลดปวด จะช่วยเรื่องอารมณ์ได้ มีผลให้อารมณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในแมวที่ฝังเข็มแล้ว มีอาการเจ็บปวดลดลง แต่บางตัวความดุหาเรื่องท้าทายตัวอื่นยังไม่ลดลง จึงเป็นไปได้ว่าสิ่งแวดล้อมอาจมีความสำคัญมากกว่า ในการกำหนดบทบาทการเป็นผู้นำ ในบ้านที่มีแมวมาก ไม่ว่าจะเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย

ขออธิบายความเพิ่มเติมเรื่องการฝังเข็ม โดยหลักการระบบสรีระทางประสาทวิทยาของการฝังเข็มที่มีผลต่อการปรับสมดุลย์สารสื่อประสาทอย่างง่าย ก็คือ เมื่อฝังเข็มกระตุ้นถูกจุดฝังเข็ม จุดฝังเข็มแต่ละจุดวิ่งไปตามแนวเส้นนั้นๆ แล้วเชื่อมต่อเข้าสู่สมองส่วนกลาง (Mid brain) มีผลให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทหลายชนิด เช่น Serotonin Norepinephrineช่วย บล็อคความเจ็บปวด กระตุ้นต่อมพิทูอิตารี่ และสมองส่วนไฮโปทาลามัส ใหัผลิตฮอร์โมน ACTH ทำให้คอร์ติซอลจากต่อมหมวก ไต และเบต้าเอ็นโดฟิน(สารความสุข)จากในร่างกายเข้าสู่ในกระแสเลือดและน้ำไขสันหลัง เข็มจะกระตุ้นเส้นประสาทไขสันหลังให้หลั่ง Enkephalin และ Dynorphin อีกทาง และสุดท้ายคือ จุดที่ฝังเข็ม แต่ละจุดจะมีขบวนการอักเสบเฉพาะที่เข้ามาเสริม ทำให้มี Mediators ต่างๆ ที่มีผลต่อการขยายตัวของเส้นเลือด ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ หรือหยุดยั้งการอักเสบ เช่น histamine acetylcholine bradykinin serotonin และ corticosteroid ซึ่งผลิตขึ้นภายในร่างกายเอง มาช่วยให้เกิดผลโดยรวมคือ ลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดความตึงเครียด ทำให้มีการซ่อมแซมร่างกายตามมา

จะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม การใช้ยารักษาโรคทางพฤติกรรมจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับ serotonin histamine acetylcholine Norepinephrine เพียงแต่การใช้ยาจะเป็นต้องหาขนาดยา ที่เหมาะสมในสัตว์แต่ละชนิดและแต่ละอาการ เพื่อให้บรรลุผลตามต้องการ

การปรับสมดุลย์ของสารสื่อประสาทหรือระบบประสาทให้เข้าที่เข้าทาง เสริมด้วยการจัด การปรับพฤติกรรม น่าจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง

ส่วนการใช้อาหารเสริม มีรายงานการใช้ melatonin ซึ่งต้องระวังในสุนัขและแมวที่เป็นเบาหวาน อาจกดการสืบพันธุ์ได้

ความเชื่อในเรื่องการใช้วัคซีนมากเกินไป ทำให้เหนี่ยวนำภาวะภูมิต้านทานไวเกินจนทำให้สมองอักเสบยังมีอยู่มากในหมู่สัตวแพทย์ทางเลือกในยุโรป หรือในอเมริกา แต่ในบ้านเรายังไม่มีรายงาน เนื่องจากโรคติดต่อของบ้านเรายังคงเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับผลเสีย ของวัคซีนยังไม่น่าสนับสนุนนัก

หรือการใช้ยาสมุนไพรจีนช่วยลดปวด ช่วยการไหลเวียนเลือด อย่างในรายที่สมองมีการบาดเจ็บ มีปัญหาทางอารมณ์ ก็มีคำแนะนำให้ใช้ได้ แต่เนื่องจากยาแผนจีนยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับใน บ้านเรา(แต่ยอมรับในต่างประเทศ) ตัวอย่างชนิดยาที่ใชัสำหรับโรคย้ำทำ เช่น ไล่งับแมลงวัน ไล่งับหางตัวเอง หรือ พฤติกรรมก้าวร้าว เช่น Zhen Gan Xi Feng Tan หรือ Xue Fu Zhu Yu Tang การใช้ยาเหล่านี้มีข้อควรระวังเช่นกัน ในรายตั้งท้อง มีอาการร้อน (ลิ้นแดงจัด ข้อต่ออุ่น ในยาตัวแรก) และยาตัวที่สองห้ามใช้ในรายที่มีเลือดออก การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ กินยา ต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่(พวก Aspirin Warfarin Coumarin) ตั้งท้องและห้ามใช้เป็นเวลานาน

สามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่าปัญหาทางพฤติกรรมสัตว์ต้องใช้หลากหลายวิธีในการปรับไปสู่พฤติกรรมที่ต้องการ และต้องอาศัยความรู้ ความใส่ใจและความอดทนอย่างยิ่งของ ผู้เลี้ยงดู และสำคัญที่สุดคือวิธีนี้ไม่มีทางลัด

หนังสืออ้างอิง:

Wynn SG and Marsden S. Manual of Natural Veterinary Medicine Science and Tradition.Mosby, St. Louis, Missouri, Veterinary Acupuncture Manual. International Veterinary Acupuncture Society. 2001.

ไม่มีความคิดเห็น: